วันที่ 7 ตุลาคม 2565 เวลา 8:00 น ที่ห้องประชุมพระปรางค์สามยอดชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดลพบุรี นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย ฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยฯจังหวัดลพบุรี โดยมีคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยฯจังหวัดลพบุรี และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมและผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปยัง11อำเภอ เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัย และแนวทางการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดลพบุรี
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ข้อมูล ณวันที่ 7 ตุลาคม 2565 จังหวัดลพบุรีมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จำนวน 5 อำเภอ 42 ตำบล 281 หมู่บ้าน 14,991 ครัวเรือน และมีอำเภอที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วจำนวน 5 อำเภอ ประกอบด้วยอำเภอลำสนธิ อำเภอหนองม่วง อำเภอโคกเจริญ อำเภอสระโบสถ์และอำเภอท่าหลวง โดยมีเส้นทางสัญจร 5 สาย ที่ไม่สามารถสัญจรได้คือ
-สาย 2275 ตอนหนองบง-ซับลังกา(อำเภอชัยบาดาล)กม.0+500-กม.4+200 เป็นช่วงๆระดับน้ำลดลงมากในช่วงปลาย แต่ในช่วงปลายกม 3 + 100 -กม. 4 + 200 และช่วงกม. 0 + 500 ระดับ 30 – 40 ลดลง 10 เซนติเมตรไม่สามารถให้การจราจรผ่านได้
-สาย 205 ตอนม่วงค่อม-คลองห้วยไผ่ ระหว่างกม 58 + 900 -กม 59 + 000 ความสูงระดับน้ำเฉลี่ย 30 เซนติเมตรโดยมีจุดที่ลึกที่สุดที่สะพานคลองห้วยไผ่ กม. 58 + 980 การจราจรทั้ง 2 ช่องจราจร รถเล็กไม่สามารถผ่านได้ทั้ง 2 ช่องจราจร
-สาย 3024 บ้านหมี่-เขาช่องลม อำเภอบ้านหมี่ช่วงกมที่ 6 + 000 -กม. 13 + 200 เป็นช่วงระดับน้ำ 10-25 เซนติเมตร รถเล็กผ่านไม่ได้
-สายลบ 5129 เลียบเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ฝั่งซ้าย(ตอนลพบุรี)อำเภอชัยบาดาล อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรีกม 0 + 000 -กม 2 + 200
-ถนนเส้นทาง 5205 แยกถนนโค้ง-ตลาดลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล บางจุดรถเล็กไม่สามารถผ่านได้
ด้านการให้ความช่วยเหลือ จังหวัดลพบุรีร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ทหาร อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยมอบถุงยังชีพ อาหารปรุงสุก น้ำดื่มให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นการเบื้องต้น
ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย ฯ ได้เน้นย้ำเรื่องถนนริมคลองชัยนาท-ป่าสักที่เกิดการทรุดตัวในบางช่วงสาเหตุจากน้ำในคลองมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลพบุรีประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบริมคลองดังกล่าวจัดหากระสอบทรายมากั้นน้ำอีกชั้นหนึ่ง เพื่อไม่ให้น้ำทะลักเข้าท่วมสถานที่ราชการและบ้านเรือนของประชาชน และให้ทางหลวงชนบทและสำนักงานชลประทานที่ 10 หาแนวทางการแก้ไขในระยะยาวให้คงทนถาวรหลังน้ำลดลง