(7) บทสรุปและส่งท้าย: ลพบุรีในฐานะมรดกทางวัฒนธรรม
สำหรับมิติทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ลพบุรีมีส่วนสำคัญต่อการแยกตัวออกจากเขมรพระนครมายังอยุธยา และเป็นเมืองที่ส่งผ่านแบบแผนจารีตทางสังคมวัฒนธรรมไปยังดินแดนข้างเคียง จนเป็นจุดกำเนิดของรัฐเมืองท่าตอนในอันจะพัฒนาสู่อาณาจักรสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย อาทิ หริภุญไชย, พะเยา, สุโขทัย, อโยธยา เป็นต้น แต่ประวัติศาสตร์ไทยตลอดช่วงที่ผ่านมามักบดบังความสำคัญของลพบุรี โดยการสร้างมุมมองและความเชื่อผิดๆ ผ่านแบบเรียนว่า ประวัติศาสตร์ไทยมีจุดเริ่มต้นที่สุโขทัย เมืองอื่นเช่น ลพบุรี, นครไชยศรี, อู่ทอง, เพชรบุรี, อโยธยา, นครศรีธรรมราช ฯลฯ ถูกตัดออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ทำให้การเกิดราชอาณาจักรสำคัญอย่างอยุธยาในภาคกลางถูกอธิบายว่าเป็นผลมาจากการขยายตัวของรัฐในเขตภาคเหนือตอนล่าง ไม่มีพัฒนาการสืบทอดหรือปรับเปลี่ยนมาจากภายในเขตที่ราบภาคกลาง
ในขณะที่คำว่า “ศิลปะลพบุรี” นั้นเกิดจากแนวคิดทางชาตินิยมที่ไม่ยอมรับอิทธิพลเขมร หรือไม่เชื่อว่าเขมรเคยมีอำนาจปกครองเหนือบ้านเมืองในสยามประเทศมาก่อน ปัญหาก็ซับซ้อนขึ้นมาอีก ครั้นจะอ้างย้อนไปถึงพระเจ้าติโลกราชว่าเป็นคนแรกที่กำหนดให้มีศิลปะลพบุรีจากที่ทรงมีพระราชบัญชาให้สร้างพระพุทธรูปแบบลวปุระ ซึ่งคาดว่าคือ “พระเจ้าแข้งคม” พระประธานวัดศรีเกิด เชียงใหม่ ก็หาใช่ที่ เพราะพระเจ้าแข้งคมมีพุทธลักษณะตรงกับศิลปะอู่ทองหรืออโยธยามากกว่าลพบุรี แต่ก็เข้าใจได้ในแง่ที่ว่าเอกสารล้านนามักนิยมเรียกภาคกลางว่า “ลวปุระ” หรือ “กัมโพช” มาจนรุ่นอยุธยาตอนต้น ทั้งนี้เพราะมองว่าอโยธยาเป็นพวกเดียวกันสืบสายมาจากลพบุรีนั่นเอง จึงไม่แปลกจะสร้างพระลวปุระออกมาเหมือนพระพุทธรูปแบบอยุธยาต้น
ส่วนหลักฐานของทางฝั่งเขมรโบราณ ระบุเต็มๆ ว่าลพบุรีเคยอยู่ในอำนาจปกครองมาก่อน โดยเฉพาะในสมัยบายน แถมยังมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงอีกด้วย แต่ไม่ใช่ว่าถูกปกครองอยู่ตลอด ขึ้นกับว่ากษัตริย์พระองค์ใดมีเครือข่ายสายสัมพันธ์หรือมีอานุภาพมากน้อย หากพิจารณาว่าพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 กับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั้นเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์มหิธรปุระ ซึ่งมีฐานกำลังอยู่แถบที่ราบสูงโคราช ก่อนจะมีบารมีพอที่จะลงไปครองเมืองพระนครได้ ก็ต้องผนึกกำลังกับอีกสองราชวงศ์ด้วยคือราชวงศ์ลวปุระ เศรษฐปุระ และเชยษฐปุระ จดหมายเหตุจีนมักระบุถึงความพยายามที่จะเป็นอิสระของ “หลอฮก” นั่นก็ยอมรับอยู่กลายๆ ว่าเคยอยู่ใต้การปกครองของเขมรพระนคร ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะยังเป็นยุคที่ “พวกเสียม” ยังเป็นพวกบ้านนอกป่าเถื่อนหรือไม่ก็ไพร่ทาส กว่าจะเป็นที่ยอมรับก็เมื่อเขมรพระนครเสื่อมสลายไปแล้ว
เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณจุดกึ่งกลางระหว่างกลุ่มวัฒนธรรมทวารวดีกับเขมรพระนคร ช่วงเวลาใดก็ตามที่ลพบุรีเอนเอียงไปสัมพันธ์กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ก็จะถูกคุกคามจากอีกฝ่าย เช่นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-16 ที่ผู้คนชาวเมืองหันไปนับถือพุทธแบบทวากันมาก ก็เผชิญสงครามกับเมืองพระนคร เช่นในสมัยพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 มีจารึกระบุว่าทรงยกทัพมาทำลายเมืองลวปุระ ปราบปรามฝ่ายผู้เห็นต่างทางศาสนาเสียราบคาบ เมื่อฝ่ายใดชนะก็มักจะทำลายศาสนสถานตลอดจนรูปเคารพในศาสนาของอีกฝ่าย หรือไม่ก็ดัดแปลงมาสู่ศาสนาของผู้ชนะ ฝ่ายเขมรพระนครเมื่อได้ชัยชนะเหนือฝ่ายทวารวดีก็ทุบทำลายสถูปหรือไม่ก็สร้างปราสาทลงทับสถูปเดิมของทวา ครั้นถึงช่วงที่ฝ่ายทวารวดีชนะบ้าง ก็กระทำในทำนองเดียวกัน คือทุบทำลายปราสาทเขมรแล้วสร้างวัดสร้างสถูปสวมทับลงไปแทน วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ กว่าที่ทั้งสองจะผสมกลมกลืนจนอยู่ร่วมกันได้ก็ใช้เวลานานพอสมควร เป็นความขัดแย้งที่มีลักษณะสากลสืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างพุทธกับพราหมณ์ที่อินเดียและลังกามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การพัฒนาเมืองลพบุรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้ทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมและสถาปัตย์อันทรงคุณค่าไว้มากมาย ทำให้ลพบุรีเป็นมหานครที่มีความโดดเด่นในแง่สะท้อนความก้าวหน้าในศิลปวิทยาการแบบเรอแนสซองต์ในสมัยอยุธยา กล่าวเฉพาะสำหรับสมัยอยุธยาแล้ว กล่าวได้ว่าลพบุรีสมัยพระนารายณ์เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำมาสู่ “ศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย” โดยเฉพาะรูปแบบซุ้มโค้งยอดแหลมที่สะท้อนอิทธิพลเปอร์เชียนั้นเป็นสิ่งที่นิยมทำสืบต่อมาในสมัยอยุธยาตอนปลาย ทั้งนี้เป็นเพราะการรู้จักคบค้าสมาคมกับชาวต่างชาติ แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิทยาการ นำเอามาปรับประยุกต์ใช้ในสังคมของตนเอง ด้วยความที่ชาวต่างชาติที่พระนารายณ์ติดต่อแลกเปลี่ยนวิทยาการอยู่นั้นเป็นคนในช่วงที่เรียกว่า “ยุคแรกเริ่มสมัยใหม่” (Early Modern) การพัฒนาจึงมีลักษณะก้าวกระโดดไปไกลกว่าที่สังคมจารีตแบบไทยจะรับได้หรือปรับตัวได้ทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีข่าวลือว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงเปลี่ยนศาสนาไปแล้ว ดังนั้นควบคู่กับการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในชั่วไม่กี่ปีในรัชกาลนั้น แรงเหวี่ยงจากลูกตุ้มของพลังทางสังคมแบบจารีตของไทยก็ถาโถมโหมซัดจนนำมาซึ่งการสิ้นสุดยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองดังกล่าว
แม้เราไม่อาจจินตนาการที่แจ่มชัดนักได้ว่า หากสมเด็จพระนารายณ์ทรงมีรัชทายาทที่สืบทอดและพัฒนาสิ่งต่างๆ ที่ทรงริเริ่มไว้ที่ลพบุรีต่อจากพระองค์ ราชอาณาจักรสยามจะเป็นเช่นใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเผชิญสงครามกับพม่าอย่างใน พ.ศ.2310 อย่างน้อยที่แน่ๆ ก็คาดได้ว่า ด้วยชัยภูมิตลอดจนระบบป้องกันโดยกำแพงป้อมปราการต่างๆ ที่สร้างขึ้นไว้ตั้งแต่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์นั้น พม่าคงยากที่จะเอาชนะได้เบ็ดเสร็จด้วยยุทธศาสตร์แบบเดียวกับที่กระทำต่ออยุธยา อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับอยุธยา ลพบุรีเป็นเมืองประวัติศาสตร์ การพัฒนาใดๆ จึงต้องคำนึงถึงมิติความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แต่เฉพาะสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ปัญหาสำคัญของเมืองลพบุรีก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่อื่นๆ คือเป็นปัญหาว่าทำอย่างไรคนกับโบราณสถานจะอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ไม่ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีลพบุรีนั้น มิติความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้ขยายนัยยะไปเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตอื่นด้วย เพราะลิงได้อยู่คู่แหล่งประวัติศาสตร์มาจนกลายเป็นอัตลักษณ์พิเศษของเมือง (มหาพิภพวานรของจริง) ลิงก็มีสิทธิจะอยู่ของมันต่อไป ทั้งนี้ขอให้ระลึกว่าลพบุรีก็เป็นบ้านของพวกมันเช่นกัน การที่ลิงสามารถอยู่ร่วมในชุมชนเมืองประวัติศาสตร์ได้ย่อมเป็นสิ่งสะท้อนจิตใจที่งดงามในฐานะมนุษย์
ตอนที่ 1 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (1)
ตอนที่ 2 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (2)
ตอนที่ 3 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (3)
ตอนที่ 4 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (4)
ตอนที่ 5 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (5)
ตอนที่ 6 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (6)
ตอนที่ 7 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (7)
เอกสารอ้างอิง
หมายเหตุ : เนื่องจากบทความนี้ถือเป็นงานเร่งด่วนในขณะที่ผู้เขียนติดภาระหน้าที่ในต่างจังหวัด จึงใช้วิธีเรียบเรียงจากความจดจำรำลึกตามที่เคยอ่านผ่านตามาเป็นส่วนใหญ่ และใช้เอกสารหลักฐานได้เพียงบางชิ้นที่ติดตัวมาและเท่าที่พอจะหาได้ในห้องสมุดต่างจังหวัดสำหรับการอ้างอิง อีกทั้งผู้เขียนยังปรารถนาจะให้ผู้อ่านได้อรรถรสต่อเนื่องราบรื่น ตามลักษณะของงานอันเปรียบเสมือนคู่มือท่องเที่ยวในเชิงลึกได้บ้าง จึงไม่ใช่วิธีการอ้างอิงที่ทำให้รกรุงรังในเนื้อหาเหมือนอย่างงานเขียนวิชาการทั่วไป แต่อย่างไรเสียหากผิดพลาดประการใดผู้เขียนขอน้อมรับไว้ ณ ที่นี้ด้วย เอกสารที่ใช้อ้างอิงในที่นี้แบ่งเป็น 2 หมวดมีรายการดังนี้
เอกสารหมวดแรก (หลักฐานชั้นต้น) :
กฎหมายตราสามดวงฉบับราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์ตามต้นฉบับหลวง เล่ม 1-2. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550.
การปฏิวัติปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์และการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา. แปลโดย แม้นมาส ชวลิต, กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2548.
คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2555.
คำให้การขุนหลวงหาวัด. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2549.
คำให้การชาวกรุงเก่า. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2546.
ชัวซีย์, บาทหลวง. จดหมายเหตุรายวันการเดินทางไปสู่ประเทศสยามในปี ค.ศ.1685 และ 1686. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร, นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2550.
แชรแวส, นิโกลาส์. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช). แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร, นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2550.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. เที่ยวตามทางรถไฟ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2557.
ต้ากวน, โจว. บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ. แปลโดย เฉลิม ยงบุญเกิด, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2557.
ตาร์ชารด์, กวีย์. จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยามครั้งที่ 1 และจดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่ 2. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร, นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2551.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คลังวิทยา, 2505.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คลังวิทยา, 2507.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่นๆ. นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2553.
พุทธพุกาม, พระ และ พุทธญาณ, พระ. ตำนานมูลศาสนา. นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2557.
รัตนปัญญาเถระ, พระ. ชินกาลมาลีปกรณ์. แปลโดย แสง มนวิฑูร, กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2518.
ลาลูแบร์, มงซิเออร์ เดอ. จดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร, นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2552.
ศิลปากร, กรม. “ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช” ใน เรื่องเมืองนครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรมการทหารสื่อสาร, 2510.
ศิลปากร, กรม. “พระราชพงศาวดารเหนือ” ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2539.
ศิลปากร, กรม. จดหมายเหตุเรื่องพระราชไมตรีในระหว่างกรุงสยามกับกรุงจีน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ดำรงธรรม, 2511.
ศิลปากร, กรม. จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14. กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529.
ศิลปากร, กรม. จารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ: แผนกงานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2527.
ศิลปากร, กรม. ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 2 จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้. แปลและชำระโดย ยอร์ช เซเดส์, กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2504.
อิบรอฮีม, อิบนิ มูหัมมัด. สำเภากษัตริย์สุลัยมาน. แปลโดย ดิเรก กุลศิริสวัสดิ์, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2545.
เอกสารหมวดที่สอง (ผลงานวิชาการ) แนะนำให้อ่านเพิ่ม :
กำพล จำปาพันธ์. อยุธยา: จากสังคมเมืองท่านานาชาติสู่มรดกโลก. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, 2559.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ระยะทางเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา เมื่อปีขาล พ.ศ.2421. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนกร, 2470.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. เที่ยวตามทางรถไฟ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2557.
น. ณ ปากน้ำ. ศิลปกรรมโบราณในสยามประเทศ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2524.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527.
ปรีดี พิศภูมิวิถี. สังคมอยุธยาในสายตาฝรั่งเศสในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช. ลพบุรี: สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี, 2558.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. ศาสนาและการเมืองในประวัติศาสตร์สุโขทัย-อยุธยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2545.
ภูธร ภูมะธน. (บก.). ภาพเก่าเล่าอดีตลพบุรี. ลพบุรี: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเทพสตรี, 2540.
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง และศานติ ภักดีคำ. ศิลปะเขมร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2557.
ไรท์, ไมเคิล. ฝรั่งอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2542.
วินัย พงศ์ศรีเพียร และตรงใจ หุตางกูร. (บก.). มรดกความทรงจำแห่งนพบุรีศรีลโวทัยปุระ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2558.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ลพบุรีหลังวัฒนธรรมเขมร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2559.
หวน พินธุพันธ์. ประวัติศาสตร์เมืองลพบุรี. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2559.
Breazeale, Kennon. From Japan to Arabia: Ayutthaya’s Maritime Relations with Asia. Bangkok: The Foundation for the Promotion of Social Sciences and Humanities Textbooks Project, 1999.
Continuing Education Center and the Translation Center and Faculty of Arts Chulalongkorn University. A Survey of Thai Arts and Architectural Attractions: a Manual for Tourist Guides. Bangkok: Chulalongkorn University, 1987.
Cruysse, Dirk Van der. Siam and the West 1500-1700. Translated by Michael Smithies, Chiangmai: Silkworm Books, 2002.
Garnier, Derick. Ayutthaya: Venice of the East. Bangkok: Riverbooks, 2004.
Hauser, Arnold. The Social History of Art. London: Routledge, 1989.
Smithies, Michael. Seventeenth Century Siamese Exploration. Bangkok: The Siam Society, 2012.
The Office of the Basic Education Commission. Lop Buri: the City of Civilization. Bangkok: Ministry of Education Thailand, 2005.
Vickery, Michael. Society, Economics, and Politics in Pre-Angkor Combodia. Tokyo: Centre for Southeast Asian Cultural Studies for Unessco, 1998.
Woodward, H.W. Jr. Studies in the Art of Central Siam 950-1350 A.D. Ph.D. Thesis Yale University, 1975