วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
spot_img
หน้าแรกเรื่องเล่าลพบุรี+ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (6)

ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (6)

(6) ลพบุรีสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์
ยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์สิ้นสุดลงจากการรัฐประหารยึดอำนาจโดยกลุ่มพระเพทราชา-หลวงสรศักดิ์เมื่อ พ.ศ.2231 (ค.ศ.1688) นับเป็นเหตุการณ์ใหญ่ในบันทึกต่างชาตินิยามเรียกว่า “การปฏิวัติ ค.ศ.1688” (1688 Revolution of Siam) เพราะนำมาซึ่งการเปลี่ยนนโยบายการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับนานาชาติ เมื่อสมเด็จพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ก็ได้ย้ายศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินกลับสู่กรุงศรีอยุธยา แต่ลพบุรีก็ไม่ได้ถูกปล่อยทิ้งร้างไป เพราะจากการพัฒนาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ทำให้เป็นเมืองใหญ่มีผู้คนย้ายถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยมาก ดังที่บาทหลวงตาชาร์ดระบุว่า “มีประชาชนพลเมืองคับคั่ง นับแต่พระเจ้าแผ่นดินแปรพระราชฐานไปประทับอยู่นานๆ” นอกจากนี้ยังปรากฏการเสด็จประพาสคล้องช้างในบางรัชกาล เช่น สมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ กระทั่งในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็ได้มีการบูรณะพระราชวัง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี และสถานที่อื่นๆ ในย่านตัวเมือง

อย่างไรก็ตามแม้นโยบายการค้าและความสัมพันธ์กับนานาชาติในช่วงราชวงศ์บ้านพลูหลวงจะแตกต่างไปจากสมัยพระนารายณ์ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าแบบแผนการสร้างสรรค์ทางศิลปกรรมที่ริเริ่มในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ก็ยังคงเป็นสิ่งที่เห็นได้ว่าส่งอิทธิพลต่อรูปแบบศิลปกรรมในช่วงหลังต่อมา อาทิ กรณีวัดบรมพุทธาราม วัดพระยาแมน ที่พระนครศรีอยุธยา สร้างในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา วัดโพธิ์ประทับช้างที่เมืองพิจิตร สร้างในรัชกาลพระเจ้าเสือ วัดมเหยงค์และวัดกุฎีดาว อยุธยา หลังจากบูรณะในช่วงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นต้น

แน่นอนว่าในเรื่องนี้ยังต้องนับปรางค์ที่อ้างอิงรูปแบบหรือดัดแปลงไปจากปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ในช่วงอยุธยาตอนปลายตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ร่นลงมา อาทิ ปรางค์วัดจุฬามณี เมืองพิษณุโลก, ปรางค์วัดพระปรางค์ (ชัณสูตร) สิงห์บุรี, ปรางค์ประธานวัดเชิงท่า อยุธยา, ปรางค์ประธานวัดวรเชตเทพบำรุง อยุธยา เป็นต้น อาคารตำหนักสองชั้นรูปสำเภาท้องโค้งและมีซุ้มประตูหน้าต่างแบบโค้งยอดแหลม ซึ่งสะท้อนอิทธิพลช่างเปอร์เชียในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ก็พบเห็นได้หลายแห่ง อาทิ ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์วัดพุทไธสวรรย์, ตำหนักทรงธรรมวัดใหม่ประชุมพล, ตำหนักเจ้าปลุก (วัดหน้าวัว), ตำหนักวัดตะเว็ดปท่าคูจาม เป็นต้น กำแพงเมืองและป้อมปราการตามหัวเมือง อาทิ ป้อมเพชรที่อยุธยาซึ่งบูรณะในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์จนรูปแบบผิดไปจากเมื่อแรกสร้างในสมัยพระมหาธรรมราชา ประตูชุมพลเมืองนครราชสีมา, ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ธนบุรี, กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช, กำแพงเมืองจันทบุรีเก่า เป็นต้น

นอกจากนี้กรณีพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสในพระบรมมหาราชวังอยุธยา ซึ่งพระราชพงศาวดารฉบับชำระต้นรัตนโกสินทร์ระบุว่า สร้างในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา แต่มีหลักฐานจากบันทึกของแชรแวสและลาลูแบร์ ทำให้ทราบว่าพระที่นั่งนี้มีมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์แล้ว ดังจะเห็นได้จากที่แชรแวสได้เล่าบรรยายถึงพระที่นั่งแห่งหนึ่งในพระบรมมหาราชวังอยุธยา ซึ่งไม่ตรงกับพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ ตรงกับพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาส เช่นว่า “พระที่นั่งองค์ที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินอยู่ที่ลานชั้นในสุด เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ ทองคำที่ประดิดประดับไว้ให้รุ่งระยับอยู่ในที่ตั้งพันแห่งนั้น เป็นที่สังเกตได้โดยง่ายจากพระที่นั่งองค์อื่นๆ สร้างเป็นรูปกากบาท หลังคาพระที่นั่งประดับฉัตรหลายชั้นอันเป็นเครื่องหมายหรือตราแผ่นดิน กระเบื้องที่ใช้มุงนั้นทำด้วยดีบุก งานสถาปัตยกรรมที่ปรากฏอยู่ทุกด้านทุกมุมนั้นงดงามมาก”

ขณะที่ลาลูแบร์ก็กล่าวถึงสถานที่ที่มีการจัดเลี้ยงต้อนรับคณะทูตในพระบรมมหาราชวังอยุธยา สถานที่ตั้งตรงกับพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสเช่นเดียวกับในบันทึกแชรแวสดังตัวอย่างเช่น “สถานที่ที่เราได้รับพระราชทานเลี้ยงในพระบรมมหาราชวังแห่งกรุงสยาม (กรุงศรีอยุธยา) นั้นเป็นสถานที่อันน่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง ภายใต้ต้นไม้ใหญ่และใกล้ขอบสระ ในสระนั้นกล่าวกันว่ามีปลาหลายพรรณ ที่รูปร่างเหมือนกับคน ก็มีทั้งชายและหญิง แต่ข้าพเจ้าแลไม่เห็นสักอย่างหนึ่งเลย”

สภาพปรักหักพังของอาคารพระนารายณ์ราชนิเวศน์ดังที่เห็นในปัจจุบัน ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพราะสงครามกับพม่าเมื่อ พ.ศ.2310 หากแต่เป็นผลจากการพังทลายเพราะกาลเวลาบวกกับไม่ได้บูรณะทั้งวังให้คงเดิม “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง” ซึ่งเป็นหลักฐานจากบันทึกความทรงจำของคนกรุงศรีที่ถูกกวาดต้อนไปพม่าหลังเสียกรุง พ.ศ.2310 ก็ยังกล่าวถึงลพบุรีในฐานะเมืองที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดเสด็จประทับอยู่เช่นว่า “ที่เมืองลพบุรีนั้นมีพระมหาปราสาทสององค์ แลพระที่นั่งใหญ่น้อยไม่มียอดหลายองค์ พระมหาปราสาททั้งสองนั้นชื่อพระที่นั่งสุทไธยสวริย์มหาปราสาท 1  พระที่นั่งดุสิตสวริยธัญมหาปราสาท 1 ทั้งสององค์นี้เปนยอดมณฑปยอดเดียวมีมุขซ้อนสี่ชั้นมีฝาทั้งสี่ด้าน  มีพระตำหนักใหญ่น้อยเปนอันมาก มีกำแพงล้อมพระราชวังด้วย มีหอคลังแลตึกกว้านตลาดพร้อมทุกสิ่ง เปนพระราชนิเวศทรงประทับ ในพระบาทสมเดจพระนารายณ์มหาราชในระดูร้อนแลระดูหนาว หกเดือนเสมอเปนเนืองนิจ จนสิ้นแผ่นดินสมเดจพระนารายณ์มหาราช แล้วภายหลังต่อมาก็เปนที่ประทับบ้าง เปนครั้งเปนคราวเนืองเนือง”

น่าสังเกตว่า “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง” กล่าวถึงพระที่นั่งหลักเพียง 2 องค์คือ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์กับพระที่นั่งดุสิตสวรรย์ธัญปราสาท ไม่ได้กล่าวถึงพระที่นั่งจันทรพิศาล  อาจจะชำรุดทรุดโทรมไปในช่วงอยุธยาปลาย ก่อนจะมาบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็เป็นได้  คำว่า “นครพระราม” ซึ่งเป็นราชทินนามเจ้าเมืองลพบุรี ตกถึงสมัยรัชกาลที่ 3 กร่อนเหลือ “นครพราม” ต่อมาในช่วงหลังจากรัชกาลที่ 4 ทรงทำพิธีชุบพระแสงและให้ตักน้ำจากสระตรวนตรีสิน ทะเลชุบศร และสระเสวย  ส่งไปใช้ในการพระราชพิธีตรุษสารทที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2403 คำว่า “นครพราม” ก็เริ่มเพี้ยนเป็น “นครพราหมณ์” ในที่สุด

รัชกาลที่ 4 ก็โปรดเสด็จประทับลพบุรีตั้งแต่เมื่อยังผนวชเป็น “พระวชิรญาณภิกขุ”  โดยมักจะเสด็จมาประทับแรมที่วัดเกาะแก้ว (วัดมณีชลขันธ์) เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วใน พ.ศ.2397 ทรงให้พระยาลพบุรีซ่อมแซมโบสถ์ วิหาร และศาลาวัด พ.ศ.2399 ทรงเสด็จทอดพระเนตรพระราชวังและกำแพงเมืองลพบุรี ต่อมาเมื่อพ.ศ.2408 ทรงพระราชทานกฐินแก่วัดเสาธงทองและวัดกวิศวราราม และให้บูรณะเมืองลพบุรี ซ่อมแซมกำแพง ป้อม ประตูพระราชวัง ครั้งนั้นยังได้สร้าง “พระที่นั่งพิมานมงกุฎ” ขึ้นสำหรับเป็นที่ประทับ ทรงพระราชทานนามวังแห่งนี้ว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” เพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระนารายณ์

เนื่องจากรัชกาลที่ 4 ทรงเชี่ยวชาญพระราชพงศาวดาร ตามที่มีเรื่องว่าในช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์นั้นได้ทรงพระราชทานวิสุงคามสีมายกวังเป็นวัดเพื่อให้จัดพิธีอุปสมบทแก่เหล่าขุนนางได้พ้นภัยจากการยึดอำนาจของพระเพทราชา ในช่วงเวลาเดียวกับที่รัชกาลที่ 4 ทรงให้บูรณะพระราชวังนั้น ก็จึงทรงทำผาติกรรมไถ่ถอนวัดกลับเป็นวังดังเดิม โดยซื้อที่นากว่า 150 ไร่ ถวายเป็นที่สงฆ์ บริจาคเงิน 600 ชั่ง ซึ่งเป็นราคาเท่ากับอิฐปูนที่ใช้สร้างพระที่นั่งพิมานมงกุฎและซ่อมวัง นอกจากนี้ยังได้ให้ปฏิสังขรณ์วัดในเขตพระราชฐาน 3 แห่ง คือ วัดชุมพลนิกายาราม บางปะอิน, วัดเสนาสนาราม อยุธยา, วัดกวิศวราราม ลพบุรี เป็นต้น อย่างไรก็ตามเรื่องการอุทิศวังเป็นวัดในปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์นี้ปรากฏอยู่เพียงในพระราชพงศาวดารฉบับชำระเมื่อต้นรัตนโกสินทร์

สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปมณฑลเทศาภิบาล ลพบุรีขึ้นกับมณฑลกรุงเก่า พ.ศ.2438 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระที่นั่งพิมานมงกุฏเป็นศาลากลางจังหวัดลพบุรี ที่สำคัญได้มีการสร้างทางรถไฟตัดผ่านตัวเมืองลพบุรี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ การคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯ กับลพบุรีสะดวกรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน เกิดชุมชนการค้าเป็นเมืองใหญ่ขยายมาที่ทางรถไฟบริเวณปราสาทศาลพระกาฬและปรางค์สามยอด อย่างไรก็ตามสภาพการขยายตัวจากบริเวณวงเวียนสระแก้วไปจนถึงอำเภอพระพุทธบาท สระบุรี เป็นผลจากนโยบาย “นิคมสร้างตนเอง” ตามแผนงานพัฒนาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องอภิปรายในรายละเอียดแยกออกไปเป็นอีกยุคหนึ่งต่างหาก

ตอนที่ 1 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (1)
ตอนที่ 2 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (2)
ตอนที่ 3 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (3)
ตอนที่ 4 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (4)
ตอนที่ 5 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (5)
ตอนที่ 6 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (6)
ตอนที่ 7 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (7)

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

Most Popular

Recent Comments