วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
spot_img
หน้าแรกเรื่องเล่าลพบุรี+ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (5)

ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (5)

(5) พระนารายณ์ราชนิเวศน์จากเอกสารไทยและเทศ
พระนารายณ์ราชนิเวศน์หรือที่เรียกกันโดยลำลองว่า “วังนารายณ์” นั้นนับเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสถาปัตย์ชิ้นเยี่ยมที่เกิดจากการพัฒนาลพบุรีในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พระราชวังแห่งนี้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มีลักษณะเช่นใด ยังเหลืออะไรให้ได้ดูได้เห็นกันบ้าง ก็ต้องศึกษารายละเอียดจากเอกสารประวัติศาสตร์ทั้งไทยและเทศ เอกสารของไทยนั้นมี “โคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์” วรรณกรรมชิ้นยอดของสมัยอยุธยา ได้บรรยายถึงพระราชวังแห่งนี้ประกอบด้วยพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญมหาปราสาท พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ และพระที่นั่งจันทรพิศาล ตามสำนวนคำกลอนดังนี้:

“ดุสิตปราสาทสร้อย   สมพุทธ

สูงเทริดธารมารุต   ช่อชั้น

พรหมพักตร์ฉัตรเฉลิมสุด   เสาวภาคย์

นาคสะพานพดหลั้น   เลียบเลื้อย ลงมา

……..

พระมนเทียรเท่าเทิด   แถวทงัน

ขวาสุธาสวรรค์พรรณ   เพริดแพร้ว

ซ้ายจันทรพิศาลวรรณ   เวจมาศ

พรายแพร่งสุริยแล้ว   ส่องสู้แสงจันทร์”

จะเห็นได้ว่า ในการวางแผนผังพระราชวังสมัยพระนารายณ์ยังคงยึดถือคติของลพบุรีที่มีมาแต่สมัยเขมรโบราณ ซึ่งมักจะกำหนดให้สถาปัตย์หลักของสถานที่มีอยู่ 3 หลัง ดังจะเห็นได้จากปราสาทปรางค์แขก ปราสาทปรางค์สามยอด ปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุที่มี่ปีกสองข้างซ้ายขวา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบันทึกต่างชาติ อาทิ นิโกลาส์ แชรแวส (Nicolas Gervaise) ซึ่งเคยเดินทางมาพบเห็นพระราชวังนี้ด้วยตนเอง โดยมีออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) และออกญาวิไชยเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เป็นผู้นำมาเข้าเฝ้า จัดเลี้ยงต้อนรับ และนำชมอุทยานในพระราชฐาน เมื่อ พ.ศ.2228 ก็ได้บรรยายถึงลักษณะของพระราชวังแห่งนี้ไว้อย่างละเอียดดังความต่อไปนี้:

“พระราชวังของพระเจ้าแผ่นดินเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ที่ชายน้ำและประดับประดาเสียหรู แต่ไม่งดงามเท่าที่กรุงศรีอยุธยา หากมีลางสิ่งที่เจริญตากว่า มีกำแพงที่แข็งแรงพอใช้ แผนผังพระราชวังมีส่วนยาวมากกว่าส่วนกว้าง ด้านที่หันเข้าสู่ตัวเมืองนั้นแบ่งออกเป็นสามชั้น แต่ละชั้นมีความงดงามแตกต่างกันออกไป ทางด้านขวาทางเข้ามีศาลาลูกขุนในสำหรับชำระคดีที่ผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ กับทิมดาบสองหลังขนาดไล่เลี่ยกัน  เป็นที่คุมขังผู้ต้องหาอยู่จนกว่าจะได้สอบสวนเสร็จ และพิจารณาพิพากษาแล้ว ทางด้านซ้ายมือเป็นอ่างเก็บน้ำใหญ่ ซึ่งจ่ายน้ำไปทั่วพระราชฐานเป็นผลงานของช่างชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งกับชาวอิตาเลี่ยนคนหนึ่งมีความรู้ในการจ่ายทดน้ำ เหนือกว่าชาวต่างประเทศหลายคนที่ได้ร่วมมือกันกับคนสยามที่เก่งๆ มาเป็นเวลาตั้งสิบปีแล้วยังทำไม่สำเร็จ พระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชทานรางวัลให้คุ้มแก่ที่เขาทั้งสองได้ทำงานสนองพระกรุณาธิคุณ ตามพระราชประสงค์ของในหลวงที่ทรงต้องการให้มีน้ำใช้ในพระตำหนัก ห่างออกไปสักสามสิบก้าว มีอุทยานแบ่งออกเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสสี่ช่องหรือแปลง อยู่ตรงหน้าพระตำหนักอันงดงามหลังหนึ่ง มีสายน้ำพุพุ่งโดยรอบ อยู่ใกล้ๆ วัดๆ หนึ่งซึ่งแม้จะไม่งดงามมากนัก ก็ยังน่าดูอยู่ไม่น้อย มีสวนรุกขชาติเล็กๆ เป็นสัดส่วน พระราชฐานชั้นนอกนี้ เป็นทางเข้าไปสู่ชั้นที่สอง ซึ่งมีความงดงามกว่าชั้นนอกอย่างเปรียบกันไม่ได้เลย ประตูทางเข้านั้นตั้งอยู่ระหว่างศาลาสองหลังเป็นโรงที่อาศัยของช้างชั้นสองสี่เชือก พระราชฐานนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กำแพงสีขาว สลักภาพทำนองของแขกมัวร์  ฝีมือประณีต และแบ่งออกเป็นคูหาเล็กๆ ซึ่งในวันงานพระราชพิธีเป็นที่ตั้งเครื่องกระเบื้องจีนเป็นอันมาก  มีห้องโถงเล็กๆ สองห้องเพดานต่ำมาก เป็นทางเข้าไปสู่อาคารหลังใหญ่ อันมีศาลาสองหลังตั้งอยู่ทางขวามือ  เป็นที่อยู่อย่างภูมิฐานของช้างชั้นหนึ่งหลายเชือก ทางซ้ายมือมีพระตำหนักงดงามหลังหนึ่ง บนหลังคามีรูปฉัตรเหมือนที่ประทับในพระนครหลวง มีพระบัญชรช่องหนึ่ง ตรงส่วนกลางของพระตำหนักหลังนี้ ซึ่งกว่าและสูงกว่าช่องอื่นๆ เป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินยามเสด็จออกปฏิสันถารราชทูตเจ้านายประเทศราชใกล้เคียง ตลอดเวลาที่เข้าเฝ้าคณะทูตต้องอยู่ในห้องโถงเล็กๆ สองห้อง ก้มหน้าดูพื้นอยู่ตลอดเวลา ร่วมกับเจ้านายผู้มีเกียรติแห่งราชสำนักที่นำเข้าเฝ้า ส่วนสำหรับราชทูตของพระเจ้ากรุงจีนกับราชทูตของประเทศใหญ่ๆ นั้น โปรดให้ได้รับการแห่แหนไปสู่ท้องพระโรงภายใต้มหาเศวตฉัตร ห้องนี้มีความยาว 3-4 ต๊วซ กว้าง 2 ต๊วซ มีประตู 3 ประตู ช่องใหญ่อยู่ตรงกลาง อีกสองช่องขนาบช่องใหญ่อยู่ตามผนังประดับกระจกเงาบานใหญ่ ซึ่งมีรับสั่งให้ขุนนางสองคนที่ไปประเทศฝรั่งเศสเป็นผู้นำมาเมื่อ 4 ปีที่แล้วมานี้ เพดานนั้นแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสสี่ช่อง ประดับลายดอกไม้ทองคำทำด้วยฝีมืออันเยี่ยม ประดับแก้วผลึกลางชนิดที่ได้มาจากประเทศจีน ดูงดงามที่สุดในโลก ตอนในของท้องพระโรงนี้ มีพระแท่นหรือบัลลังก์ที่ประทับงดงามมากตั้งขึ้นสูงจากระดับพื้น 4 หรือ 5 กูเด พระเจ้าแผ่นดินเสด็จขึ้นสู่พระบัลลังก์ทางด้านหลังโดยไม่มีใครได้เห็นพระองค์ก่อน โดยทางบันไดจากห้องลับซึ่งพระบัลลังก์นั้นตั้งแนบอยู่ ณ ที่นั้น กล่าวกันว่าเป็นที่ประทับของพระราชธิดา โดยที่ไม่มีผู้ใดได้รับอนุญาตให้ผ่านเข้าไปได้ แม้ท่านราชทูตฝรั่งเศสเองก็ไม่มีโอกาสได้เข้าไปเห็นภายใน ข้าพเจ้าจำจะต้องงดให้รายละเอียด ณ ที่นี้ ไกลออกไปจากที่นั่นหน่อย เมื่อลงบันไดไปสัก 15 หรือ 20 ขั้นก็ถึงพระราชฐานชั้นที่สาม  อันเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นพระราชฐานส่วนที่มีอาณาบริเวณกว้างขวาง ทองคำแพรวพราวไปทั่วทุกหนทุกแห่งเช่นในพระราชฐานชั้นที่สอง หลังคาประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง คล้ายกับทองคำมาก ยามเมื่อต้องแสงตะวัน ต้องมีสายตาดีมากจึงจะทนแสงสะท้อนได้ พระตำหนักหลังนี้มีกำแพงปีกกาล้อมรอบ ที่มุมทั้งสี่มีสระน้ำใหญ่สี่สระ บรรจุน้ำบริสุทธิ์ เป็นที่สรงสนานของพระเจ้าแผ่นดิน ภายในกระโจมซึ่งคลุมกั้นสระน้ำที่อยู่ทางขวามือมีลักษณะคล้ายถ้ำเล็กๆ มีพรรณไม้เล็กๆ ขึ้นเขียวชอุ่มอยู่เสมอ  และพรรณไม้ดอกที่มีกลิ่นหอมตลบอบอวลอยู่ตลอดเวลา มีธารน้ำใสจ่ายน้ำให้แก่สระทั้งสี่นี้

ทางเข้าพระราชฐานชั้นนี้อนุญาตให้เฉพาะแต่เหล่ามหาดเล็กในพระองค์ กับขุนนางชั้นผู้ใหญ่ลางคนอันเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเท่านั้น ส่วนขุนนางอื่นๆ หมอบอยู่บนกำแพงแก้วบนพรหมผืนใหญ่ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกขุนนาง ก็มีพระราชดำรัสจากบัญชรพอได้ยิน ขุนนางชั้นผู้น้อยหมอบอยู่บนเสื่อเบื้องล่างกำแพงแก้ว ก้มหน้ามองพื้น ลางทีก็อยู่ห่างจากองค์พระเจ้าแผ่นดินตั้งร้อยก้าว

โดยรอบกำแพงแก้วนี้ สร้างเป็นห้องเล็กๆ ค่อนข้างสะอาด เป็นที่อยู่อาศัยของบรรดามหาดเล็กและทหารยาม ไกลออกไปทางซ้ายมือเป็นแปลงพรรณไม้ดอกที่หายาก และที่น่าดูพิเศษสุดในมัธยมประเทศ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงปลูกด้วยพระหัตถ์เอง ครั้นแล้วก็ถึงอุทยานใหญ่ตรงหน้าพระตำหนัก ปลูกต้นส้มใหญ่ มะนาวและพรรณไม้ในประเทศอย่างอื่นอีก มีใบดกหนาทึบ แม้ยามแดดร้อนตะวันเที่ยงก็ร่มรื่นอยู่เสมอ ตามสองข้างทางเดินมีกำแพงอิฐเตี้ยๆ มีโคมทองเหลืองติดตั้งไว้เป็นระยะ และตามไฟขึ้นในระยะที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จประทับอยู่ ระหว่างหลักโคมสองหลัก มีสิ่งก่อสร้างคล้ายเตาหรือแท่น สำหรับใช้เผาไม้หอมส่งกลิ่นไปไกลๆ จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุไฉนพระเจ้ากรุงสยามจึงได้ทรงโปรดพระที่นั่งสำราญของพระองค์นัก เหล่าสนมกำนัลก็มีที่พักอาศัยงดงามเป็นตึกแถวยาวขนานไปกับพระตำหนักที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินและพระราชธิดาตั้งแต่มุมโน้นจรดมุมนี้ และการเข้าออกก็ยากมาก ห้ามแม้แต่กระทั่งพระราชโอรส มีแต่พวกขันธี (eunuque) เท่านั้น ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปถวายการปรนนิบัติได้ จึงบรรยายให้เห็นแต่เพียงภายนอกเท่านั้น ส่วนภายในก็พอร่างให้เห็นแผนผังหยาบๆ เพราะข้าพเจ้าร่วมคณะมาในกลุ่มบุคคลที่ไม่ค่อยให้ความสะดวกแก่ข้าพเจ้าในอันที่จะบรรยายให้ถูกต้องกว่านี้ได้”

นอกจากนี้แชรแวสยังได้บรรยายถึงลักษณะ “พระคลังศุภรัตน์” หรือกลุ่มอาคาร “สิบสองท้องพระคลัง” ถึงแม้ข้อมูลของเขาจะแย้งกับของไทยในแง่ที่เขาระบุว่ากลุ่มอาคารดังกล่าวนี้มีเพียง “แปดหรือสิบท้องพระคลัง” เท่านั้น แต่ภาพที่เขาบรรยายถึงสถานที่นี้ตามที่ได้พบเห็นด้วยตาตนเองนั้น ทำให้บันทึกของถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญเกี่ยวกับลักษณะและประโยชน์ใช้สอยของอาคารเหล่านี้ ดังตัวอย่างเช่น “พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระราชทรัพย์อยู่แปดหรือสิบท้องพระคลัง ที่มีทรัพย์สินอันล้ำค่ายิ่งกล่าวท้องพระคลังอื่นๆ ในห้องหรือท้องพระคลังแห่งหนึ่ง มีไหเป็นอันมากตั้งเรียงสลับซับซ้อนอยู่จนถึงหลังคา เต็มไปด้วยเงินเหรียญบาทและทองคำแท่ง ส่วนใหญ่เป็น…? (tambac) (ฉบับแปลของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ระบุว่า “นาก”-ผู้อ้าง) อันเป็นส่วนผสมของโลหะหลายชนิดถลุงให้บริสุทธิ์ขึ้น ซึ่งในประเทศสยามถือกันว่ามีค่ากว่าทองคำเสียอีก แม้จะไม่สุกใสก็ตาม ท้องพระคลังอีกแห่งหนึ่งเต็มไปด้วยดาบญี่ปุ่น ตีด้วยเหล็กเนื้อดี อาจฟันแท่งเหล็กให้ขาดสะบั้นได้โดยง่าย แล้วก็ไม่กฤษณา, กะลำพัก, ชะมดเชียงและเครื่องกระเบื้องชุดลายครามจากเมืองจีนเป็นอันมาก กับผ้าแพรพรรณอย่างดี ทำในชมพูทวีปและในยุโรป และเครื่องกระเบื้องเคลือบชนิดบางลางชนิด ซึ่งเมื่อใส่ยาพิษลงไปแล้วก็จะแตกทันที สรุปแล้วเราไม่อาจที่จะบอกได้ถูกต้องว่ามีสิ่งอันล้ำค่า, ได้ยากและน่าเห็นน่าชมมากมายสักเท่าไรในท้องพระคลังอื่นๆ อีก”

ขณะที่ลาลูแบร์ก็ได้กล่าวบรรยายถึงลักษณะ “ตึกเลี้ยงแขกบ้านแขกเมือง” ซึ่งเขาก็อยู่ในฐานะ “แขกบ้านแขกเมือง” คนหนึ่งในสมัยพระนารายณ์ ซึ่งเข้ามาพร้อมคณะทูตชุดเดอ โชมองต์ พ.ศ.2228 กล่าวคือ “ในพระบรมมหาราชวังที่เมืองละโว้ พวกเราได้รับพระราชทานเลี้ยงในพระราชอุทยาน ภายในห้องโถงแห่งหนึ่งซึ่งผนังสูงขึ้นไปจรดหลังคา และรองรับตัวหลังคาไว้ ผนังนี้ได้รับการโบกปูนสีขาวผ่อง เรียบและเป็นมันวับ… ห้องนี้มีประตูด้านสกัดด้านละช่อง และมีคูน้ำ 2 ถึง 3 ตัวซ์กับลึกประมาณ 1 ตัวซ์ล้อมโดยรอบ ภายในคูมีน้ำพุสายเล็กๆ เรียงรายได้ระยะกันติดตั้งอยู่ราว 20 แห่ง สายน้ำพุนั้นพุ่งขึ้นมาเหมือนจากฝักบัวรดน้ำ กล่าวคือที่หัวท่อนั้นเจาะเป็นรูเล็กๆ ไว้หลายรูด้วยกัน และน้ำนั้นพุ่งขึ้นมาสูงเสมอระดับขอบคูหรือราวๆ นั้นเท่านั้น เพราะแทนที่จะยกระดับอ่างจ่ายน้ำให้สูง เขากลับขุดดินลงไปให้อ่างจ่ายน้ำอยู่ในระดับต่ำ”

ตอนที่ 1 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (1)
ตอนที่ 2 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (2)
ตอนที่ 3 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (3)
ตอนที่ 4 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (4)
ตอนที่ 5 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (5)
ตอนที่ 6 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (6)
ตอนที่ 7 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (7)

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

Most Popular

Recent Comments