(4) ลพบุรีสมัยพระนารายณ์จากเอกสารต่างชาติ
ยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นช่วงที่ราชอาณาจักรสยามได้มีโอกาสต้อนรับชาวต่างชาติอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งซีกโลกตะวันตกเวลานั้นเริ่มเข้าสู่ยุคเรอแนสซองต์ ทำให้กลุ่มคนที่เข้ามาติดต่อกับสยามในรัชกาลเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในวัฒนธรรมแบบใหม่แตกต่างจากโลกยุคก่อนหน้าซึ่งเป็นยุคกลาง เมื่อมีโอกาสเดินทางมาสู่โลกตะวันออก พวกเขาก็ได้นำเอาวิทยาการความก้าวหน้าต่างๆ เข้ามาเผยแพร่ด้วย และเนื่องจากเป็นชาวตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการอ่านเขียน เป็นยุคมีแท่นพิมพ์ ตลาดผู้อ่านหรือผู้คนทั่วไปต่างนิยมอ่านเรื่องราวแปลกๆ จากโลกตะวันออก
ประกอบกับคริสตจักรเวลานั้นมีธรรมเนียมให้ผู้ที่เดินทางไปในโลกต่างศาสนา เมื่อกลับแผ่นดินเกิดให้สารภาพบาปหรือการละเมิดบัญญัติต่างๆ ที่เคยกระทำไปเพื่อเอาตัวรอดในดินแดนนอกพระคัมภีร์ ได้มีโอกาสไถ่ถอนบาปของตนผ่านการเขียนรายงานถวายแด่องค์พระสันตะปาปา ธรรมเนียมที่คล้ายคลึงกันนี้ก็มีในหมู่พ่อค้าและนักเดินทางชาวมุสลิมด้วย ดังนั้นยุคนี้จึงเป็นยุคที่ให้กำเนิดบันทึกประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่ามากมาย ตัวอย่างที่เกี่ยวข้องในที่นี้ก็จะเห็นได้ดังลำดับถัดไปดังนี้
มุฮัมหมัด อิบรอฮีม ราบี (Muhammad Ibrahim Rabi) ลิปิกร (เสมียน) ในคณะทูตจากอิหร่านเปอร์เชียที่เดินทางเข้ามาอยุธยาและลพบุรีเมื่อ พ.ศ.2228 ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับคณะทูตจากฝรั่งเศสชุดนำโดยเชอร์วาริเอร์ เดอ โชมองต์ (Chevalier de Chaumont) ได้บันทึกเกี่ยวกับลพบุรี และเหตุที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดเสด็จประทับที่ลพบุรีไว้ว่า “ลพบุรีมีอากาศดีจึงทำให้สมเด็จพระนารายณ์โปรดปรานมาก พระองค์จะประทับอยู่ที่นั่นประมาณ 9 เดือน และจะเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยาเมื่อเข้าหน้าฝน”
อีกด้าน บาทหลวงติโมลีออง เดอ ชัวซีย์ (Timoléon de Choisy) ผู้ร่วมเดินทางมาอยุธยาและลพบุรีในคณะทูตชุดเชอร์วาริเอร์ เดอ โชมองต์ เมื่อ พ.ศ.2228 และได้อยู่ลพบุรีสมัยนั้นเป็นเวลาราว 3 เดือน ก็ได้บันทึกเกี่ยวกับการเสด็จประทับเมืองลพบุรีในช่วงดังกล่าวว่า “สมเด็จพระนารายณ์ประทับที่ละโว้ปีละ 7-8 เดือน และทรงสร้างละโว้ขึ้นเป็นเมืองใหญ่ กล่าวกันว่าพระองค์ประทับสำราญพระราชอิริยาบถได้สะดวกสบายกว่าในเมืองหลวง พระองค์เสด็จออกประพาสล่าสัตว์ทุกวัน และประชาชนพลเมืองได้ชมพระบารมีมากกว่าในกรุง (ศรีอยุธยา-ผู้อ้าง) เสียอีก”
กีย์ ตาชาร์ด (Guy Tachard) บาทหลวงฝรั่งเศสในคณะเยซูอิตอีกผู้หนึ่งซึ่งได้เดินทางมาพร้อมกับคณะทูตชุดเชอร์วาริเอร์ เดอ โชมองต์ พ.ศ.2228 ก็มีบันทึกกล่าวทำนองเดียวกันว่า “ละโว้เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ห่างกรุงศรีอยุธยาไปทางเหนือประมาณสิบห้าหรือยี่สิบลิเออ และประทับที่เมืองนั้น เก้าหรือสิบเดือนในปีหนึ่งๆ ด้วยว่าเป็นเสรีดี ไม่ต้องทรงอุดอู้อยู่แต่ในพระบรมมหาราชวัง เช่นที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อคอยกวดขันให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมีความจงรักภักดีและมีความเคารพนบนอบต่อพระองค์… เมืองละโว้นั้นเป็นภูมิประเทศที่น่าอยู่ และอากาศก็บริสุทธิ์มาก ตัวเมืองนั้นกว้างพอใช้ และมีประชาชนพลเมืองคับคั่ง นับแต่พระเจ้าแผ่นดินแปรพระราชฐานไปประทับอยู่นานๆ”
บันทึกของนิโกลาส์ แชรแวส (Nicolas Gervaise) พ.ศ.2228-2229 นับว่าเป็นบันทึกที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับลพบุรีสมัยพระนารายณ์เอาไว้มากกว่าผู้อื่น แม้เขาจะออกตัวว่างานของเขานั้นยังไม่ละเอียดพอเนื่องจากไม่ได้เห็นทุกซอกมุมภายในพระราชวังก็ตาม ดังที่เขาบรรยายไว้ว่า “ละโว้ (Louveau) ซึ่งชาวสยามเรียกกันโดยสามัญว่า นพบุรี (Noccheboury) นั้น เป็นเมืองในราชอาณาจักรสยาม ซึ่งเมื่อเปรียบไปแล้ว ก็เช่นแวรซายส์ของฝรั่งเศส พระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนๆ ทรงมีที่ประทับสำราญ แต่หากได้เลิกร้างไปเสียเมื่อราว 100 ปีมานี้เอง พระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบันได้ทรงมาจัดการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เมืองนี้ตั้งอยู่ที่ราบสูงของประเทศซึ่งน้ำท่วมขึ้นไปไม่ถึง มีอาณาเขตโดยรอบยาวประมาณครึ่งลี้ บริเวณพระราชฐานนั้นเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และภายในมีอาคารก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่ในระยะห่างๆ กัน ในฤดูที่ประเทศมีน้ำท่วม มักจะมีน้ำอยู่เกือบโดยรอบด้าน ส่วนในฤดูอื่นๆ พระราชฐานส่วนหนึ่งเท่านั้นที่จรดชายแม่น้ำ ซึ่งแยกมาจากแม่น้ำใหญ่ไม่ลึกพอที่เรือใหญ่ๆ จะเข้ามาได้ สถานที่ตั้งนั้นเป็นชัยภูมิดีอากาศบริสุทธิ์ จนไม่มีใครอยากจะจากไป เมืองนี้ตั้งอยู่ห่างจากนครหลวง 14 ลี้โดยทางลำแม่น้ำใหญ่ แต่โดยลำคลองที่พระเจ้าแผ่นดินทรงมีรับสั่งให้ขุดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ คงทำให้ห่างกันราว 9 หรือ 10 ลี้เท่านั้น (หมายถึงขุดปรับปรุงแม่น้ำลพบุรีช่วงจากคลองบางพระครูไปตำบลเจ้าปลุก-ผู้อ้าง)พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ทรงโปรดปรานเมืองนี้มาก ประทับอยู่ที่นั่นเกือบตลอดปี และทรงเอาพระทัยใส่สร้างให้สวยงามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และทรงตั้งพระทัยจะขยายอาณาเขตออกไปอีก แต่พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าน่าจะสร้างเป็นที่มั่นจะเหมาะกว่า ภายในเขตพระราชฐานนั้นสะอาดสะอ้านมากและได้รับการทำนุบำรุงอันเป็นดี ซึ่งนอกจากในพระนครหลวงแล้ว ก็ไม่มีที่ใดงดงามเท่าที่นี่ มีอุทยานและทางเดินเล่นที่งดงามเท่าๆ กัน ชีวิตที่นี่มีความสมบูรณ์พูนสุขเป็นอันมาก แต่โดยที่พลเมืองมาก เสบียงอาหารจึงมีราคาแพงกว่าในเมืองอื่นๆ ขาดแต่น้ำดีๆ ในชั่วระยะ 4 หรือ 5 เดือนในปีหนึ่งๆ ในฤดูน้ำลด เพราะม้าและช้างที่ลงอาบทำให้สกปรกจนใช้ดื่มไม่ได้ ต้องอาศัยพึ่งบ่อ หรือที่เก็บไว้เมื่อคราวน้ำท่วมในโอ่งดินใหญ่แล้วกรองเสียให้ใส”
ปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง นับเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเมืองลพบุรี แม้ว่าจะทรงพยายามให้ช่างชาวต่างชาติทั้งฝรั่งเศส เปอร์เชีย และอิตาลี เข้ามาสร้างระบบประปาโดยวิธีผันน้ำมาจากอ่างซับเหล็ก แต่ก็พอใช้เฉพาะในเขตพระราชฐานและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างบ้านวิชาเยนทร์เท่านั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ซิมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubère) ได้มีบันทึกกล่าวถึงไว้เช่นกัน เพิ่มเติมคือลาลูแบร์ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของพระที่นั่งไกรสรสีหราช (พระที่นั่งเย็น) ในประเด็นเกี่ยวกับการจัดการน้ำของเมืองลพบุรี ไม่ใช่เฉพาะที่ประทับร้อนสำราญพระราชหฤทัยดังความที่ว่า “ที่เมืองละโว้ น้ำกลับไม่น่าดื่มยิ่งกว่าที่เมืองสยาม (หมายถึงกรุงศรีอยุธยา-ผู้อ้าง) ไปเสียอีกทั้งนี้เนื่องจากแม่น้ำ (เจ้าพระยา) มิได้ผ่านตัวเมืองโดยตรง มีแต่เพียงลำคลองขุดไปบรรจบแม่น้ำใหญ่เพื่อนำน้ำไปใช้เท่านั้น ครั้นสิ้นหน้าฝนน้ำก็ลดลงทุกทีกระทั่งน้ำแห้งขอดไปในที่สุด พระเจ้ากรุงสยามเสวยน้ำที่ตักมาจากอ่างเก็บน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งขุดขึ้นกลางทุ่งนา (หมายถึงสระมโนราห์หรือสระเสวย-ผู้อ้าง) มีเจ้าพนักงานประจำรักษาอยู่ตลอดปี นอกจากนั้นพระเจ้ากรุงสยามยังทรงมีพลับพลาที่ประทับ (ณ ตำบล) ชื่อ ทะเลชุบศร (Tlee Poussone) อันแปลว่า ทะเลอันอุดม (Mer riche) อยู่ห่างจากเมืองละโว้หนึ่งลี้ อ่างเก็บน้ำนี้ตั้งอยู่ชายที่ลุ่มแห่งหนึ่งมีพื้นที่ประมาณ 3 หรือ 3 ลี้ ซึ่งรับน้ำฝนขังไว้ ทะเลน้อยๆ มีลักษณะแปลกไม่มีขอบคันหรือขุดให้เป็นแนวตรงแต่ประการใด แต่น้ำในบึงนั้นสะอาดเพราะมีความลึกมาก และได้รับการกักเก็บไว้ และข้าพเจ้าได้ยินว่าพระเจ้ากรุงสยามก็เสวยน้ำในบึงนี้”
ตอนที่ 1 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (1)
ตอนที่ 2 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (2)
ตอนที่ 3 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (3)
ตอนที่ 4 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (4)
ตอนที่ 5 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (5)
ตอนที่ 6 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (6)
ตอนที่ 7 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (7)