(1) ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และสังคมวัฒนธรรม
ลพบุรีเป็นชุมชนเมืองเก่าแก่มีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากรายงานความก้าวหน้าในการขุดค้นทางโบราณคดีตลอดช่วงกว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ระยะแรกเริ่ม ลพบุรีเป็นเมืองท่าสำคัญในวัฒนธรรมแบบทวารวดีและเขมรพระนคร บางครั้งก็ปรากฏในชื่อ “ละโว้” หรือ “ลวปุระ” หรือ “ลโวทยปุระ” หรือ “นพบุรี”
ในระยะรัศมี 1 พันเส้น (40 กม.) มีชุมชนเมืองโบราณตั้งอยู่รอบทิศของเมืองลพบุรีหลายแห่ง อาทิ เมืองวังไผ่ (ในอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี), เมืองคูเมือง (ในอำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี), เมืองพรหมทิน (ในอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี), เมืองซับจำปา (ในอำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี), เมืองขีดขินหรือปรันตปะ (ในอำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี), เมืองอโยธยา (ในอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) เป็นต้น ละโว้หรือลพบุรีเดิมคือศูนย์กลางของแว่นแคว้นหนึ่งซึ่งมีอำนาจอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำบางขาม แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก ชนชั้นนำเป็นเครือญาติมีสายสัมพันธ์กับเมืองศรีเทพ นครปฐมโบราณ ที่ราบสูงโคราช และเขมรพระนคร ในแง่เอกสารหลักฐานนั้นลพบุรีก็ปรากฏอยู่ในหลักฐานต่างๆ หลายชิ้นด้วยกัน ดังจะแสดงให้เห็นตามลำดับต่อไปนี้
คำว่า “ลวปุระ” ปรากฏในเหรียญเงินทวารวดีพบที่เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี (ตัว “ว” กับ “พ” แทนกันได้ ดังนั้น “ลว” จึงเท่ากับ “ลพ” ทำนองเดียวกับคำว่า “สุวรรณ” กับ “สุพรรณ” เป็นต้น) “พระราชพงศาวดารเหนือ” ระบุว่า พระยากาฬวรรณดิศ ผู้ครองนครไชยศรี (นครปฐมโบราณ) และเป็นใหญ่อยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เป็นกษัตริย์ผู้สถาปนาเมือง “ละโว้” ขึ้นเมื่อ พ.ศ.1002 และอีกที่กล่าวถึงพระนารายณ์ราชา โอรสพระเจ้าจันทโชติ เป็นผู้สร้างพระปรางค์เมืองละโว้ เมื่อ พ.ศ.1612 (คาดว่าเอกสารหมายถึงพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมื่อแรกสร้างในต้นพศว.17 แต่พังทลายลงจนเหลือแต่ซากฐาน ต่อมาได้มีการสร้างพระปรางค์องค์ใหม่ในช่วงราวปลายพศว.18 ถึงต้นพศว.19 อย่างไรก็ตามพื้นที่บริเวณฝั่งตะวันตกหลังปรางค์ประธานมีซากฐานปราสาทเขมรแบบบาปวน พศว.16 แสดงว่าเคยเป็นสถานที่สำคัญในวัฒนธรรมเขมรมาก่อนด้วย)
หลักฐานของล้านนา “ตำนานมูลศาสนา” กล่าวถึงการสร้างเมืองหริภุญไชย (ลำพูน) แล้วได้เชิญราชธิดากษัตริย์ลพบุรี คือ พระนางจามเทวี เสด็จขึ้นไปครองเมือง ขณะนั้นพระนางกำลังมีครรภ์ พระสวามีเป็นกษัตริย์ครองเมืองอโยธยา “ชินกาลมาลีปกรณ์” (เดิมชื่อ “ชินกาลมาลินี”) เป็นเอกสารอีกชิ้นกล่าวถึงพญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) กับพญางำเมือง กษัตริย์เมืองพะเยา เมื่อครั้งยังเยาว์วัยได้มาศึกษาศิลปวิทยาการอยู่ ณ สำนักพระสุกทันตฤาษีที่เขาสมอคอน (ในเขตอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี)
หลักฐานเขมรโบราณ เช่น “จารึกปราสาทพระขรรค์” (พศว.18) กล่าวถึงบ้านเมืองสำคัญในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากว่า 6 เมืองที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงส่ง “พระชัยพุทธมหานาถ” มาให้ประดิษฐานไว้ในเมือง เมืองทั้ง 6 มีรายนามและข้อสันนิษฐานถึงอาณาเขตที่ตั้งคือ (1) “ลโวทยปุระ” (ละโว้หรือลพบุรี), (2) “สุวรรณปุระ” (สุพรรณภูมิหรือสุพรรณบุรี), (3) “ศัมพูกปัฏฏะนะ” (เมืองโบราณที่สระโกสินารายณ์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี), (4) “ชัยราชปุระ” (ราชบุรีที่วัดมหาธาตุวรวิหาร), (5) “ศรีชัยสิงหปุระ” (ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี), (6) “ศรีชัยวัชรปุระ” (พริบพรีหรือเพชรบุรีที่วัดกำแพงแลง) เป็นต้น
นอกจากนี้จารึกเขมรชิ้นสำคัญยังมี “จารึกปราสาทพิมานอากาศ” กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงแต่งตั้งพระราชโอรสนามว่า “นฤปตินทรวรมัน” มาเป็น “ละโว้ทเยศ” (ผู้เป็นใหญ่ในกรุงละโว้) แสดงว่าลพบุรีในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรกัมพูชา (ธรรมเนียมนี้สืบทอดต่อมาถึงสมัยอยุธยาตอนต้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ก็ส่งพระราชโอรสคือสมเด็จพระราเมศวร มาครองลพบุรี ไม่แน่ว่าราชวงศ์ละโว้-อโยธยา ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา อาจสืบเชื้อสายมาจาก “ละโว้ทเยศ” องค์นั้นก็ได้ เพราะระยะเวลาห่างกันไม่มาก) เนื่องจากว่าลพบุรีตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเป็นรอยต่อที่สองกลุ่มวัฒนธรรมใหญ่ในภูมิภาค คือ กลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดีนับถือพุทธเถรวาท กับเขมรพระนครนับถือพราหมณ์ฮินดู (ภายหลังเป็นพุทธมหายาน) ทั้งสองกลุ่มวัฒนธรรมต่างมีช่วงเวลาคาบเกี่ยวซ้อนทับกัน และจากความสำคัญในทางภูมิศาสตร์ทำให้ลพบุรีตกอยู่ท่ามกลางการแย่งชิงอำนาจของทั้งสองกลุ่ม
ในแง่เครือญาติชาติพันธุ์ ชนชั้นปกครองเมืองลพบุรีเป็น 1 ใน 5 สายราชวงศ์สำคัญของกัมพูชา คือ (1) ราชวงศ์ยโสธรปุระ (มีอำนาจในแถบที่ราบลุ่มทะเลสาบเขมร), (2) ราชวงศ์มหิธรปุระ (มีอำนาจในแถบที่ราบสูงโคราช), (3) ราชวงศ์ลวปุระ (มีอำนาจในเขตลุ่มเจ้าพระยา), (4) ราชวงศ์เศรษฐปุระ (มีอำนาจในแถบลุ่มแม่น้ำโขงฝั่งตะวันออก) (5) ราชวงศ์เชยษฐปุระ (มีอำนาจในแถบตอนใต้เขาบรรทัด-แม่น้ำบางปะกง) ในช่วงก่อนพศว.19 กลุ่มที่ค่อนข้างมีอิทธิพลอย่างสูงคือราชวงศ์มหิธรปุระ เป็นราชวงศ์ของกษัตริย์ที่ได้รับยกย่องเป็น “มหาราช” องค์สำคัญในประวัติศาสตร์กัมพูชาสมัยพระนคร 2 พระองค์คือ พระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัดในพศว.17 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สถาปนานครธมในพศว.18 ช่วงที่ราชวงศ์มหิธรปุระเป็นใหญ่ในอาณาจักรกัมพูชา มักจะเป็นช่วงที่ลพบุรีมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัมพูชา เช่น ในรุ่นพศว.17 ลพบุรีเป็นเครือข่ายบ้านเมืองสำคัญหนึ่งที่ยกทัพไปช่วยพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ทำสงครามกับจามปา ดังปรากฏภาพสลักที่ระเบียงปราสาทนครวัด มีภาพกองทัพละโว้ผู้นำชื่อ “กมรเตงอัญศรีชัยสิงหวรมัน” ต่อมาในรุ่นพศว.18 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็ดังที่กล่าวไว้แล้วว่าลพบุรีมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรกัมพูชาในเวลานั้น
แต่นอกเหนือจากศูนย์กลางอำนาจที่ลุ่มทะเลสาบเขมรและที่ราบสูงโคราชแล้ว ด้านลุ่มเจ้าพระยาตลอดถึงลุ่มน้ำกกตอนบน ลพบุรีก็มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดเช่นกัน “ขอมสบาดโขลญลำพง” ผู้ครองสุโขทัยก่อนที่จะถูกพ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกลางหาวยกทัพไปยึดอำนาจแล้วประกาศตัวเป็นอิสระจากขอมนั้น “ขอมสบาดโขลญลำพง” ก็ไม่ใช่ขอมจากเมืองพระนคร หากแต่คือขอมจากลพบุรีที่ขึ้นไปเป็นใหญ่ที่สุโขทัย ขณะที่กลุ่มต่อต้านขอมที่สุโขทัยอย่างพ่อขุนบางกลางหาวก็อ้างอิงที่มาของตนกับ “พระร่วงส่งส่วยน้ำ” ในตำนาน ซึ่งก็คือชนชั้นนำที่ลี้ภัยจากลพบุรีขึ้นไปสุโขทัยอีกเช่นกัน (หากว่าตำนานพระร่วงส่งส่วยน้ำนี้จะพอมีเค้าความจริงอยู่บ้าง) เช่นเดียวกับ “ขอมอุโมงคเสลา” ตามตำนานล้านนาก็คาดว่าเป็นขอมจากลพบุรีเช่นกัน เป็นขอมที่ถูกส่งขึ้นไปปกครองในลักษณะเดียวกับพระนางจามเทวีที่ลำพูน แต่ “ขอมสบาดโขลญลำพง” กับ “ขอมอุโมงคเสลา” คือกลุ่มนับถือพราหมณ์ ต่างจากพระนางจามเทวีที่นับถือพุทธศาสนา จึงเป็นที่ยอมรับจากคนพื้นเมืองมากกว่าอีกสองกลุ่มข้างต้น เมื่อล้านนาเปลี่ยนจากถือผีมาเป็นพุทธ ในความหมายอย่างกว้าง “ขอม” ก็คือชนชั้นปกครองเขมรที่นับถือพราหมณ์
หลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ลพบุรีก็แปรพักตร์จากเขมรมาสู่อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งปรับปรุงบ้านเมืองเข้าสู่อีกยุคถัดมาหลังจากได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์ ช่วงนี้ลพบุรีเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกบฏและสงครามต่อต้านเขมรพระนครอยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้เพราะเป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จักรวรรดิขนาดใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญปัญหาวิกฤติการณ์ความเสื่อมถอย บ้านเมืองต่างๆ ที่เคยขึ้นกับเขมรพระนครต่างแยกตัวเป็นอิสระ เกิดแคว้นใหม่ในรุ่นถัดมา อาทิ เชียงใหม่, พะเยา, สุโขทัย, เวียงจัน, นครศรีธรรมราช, อโยธยา เป็นต้น
จดหมายเหตุจีน ระบุว่า “หลอฮก” (ละโว้) ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีนอยู่ระหว่างพ.ศ.1832-1842 บันทึกของโจวต้ากวน (Zhou Daguan) ราชทูตจีนที่เข้ามานครธมเมื่อ พ.ศ.1839 (54 ปีก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1) ระบุว่า “พวกเสียน” ได้ก่อกบฏต่อเขมรพระนคร จนต้องยกทัพไปทำลายหมู่บ้านต่างๆ ทางทิศตะวันตกจนราบคาบ แม้จะยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า “เสียน” ที่ปรากฏในจดหมายเหตุจีนและบันทึกโจวต้ากวนนี้หมายถึงกลุ่มชนในบริเวณใด สุโขทัย สุพรรณบุรี เพชรบุรี หรืออโยธยา แต่อย่างน้อยก็เชื่อได้ว่าลพบุรีต้องเกี่ยวข้องกับการกบฏดังกล่าวด้วยเป็นแน่ เพราะเป็นศูนย์กลางสำคัญของแถบลุ่มแม่น้ำทางทิศตะวันตกของเขมรพระนคร
ผลของการกบฏในรุ่นหลังสิ้นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นต้นมาทำให้บ้านเมืองในลุ่มเจ้าพระยาตามที่เคยปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์นั้นรวมตัวกันจนนำมาสู่อาณาจักรใหม่คือ “อโยธยา” มีศูนย์กลางอยู่ที่ “ศรีรามเทพนคร” แล้วยกไปตีอาณาจักรกัมพูชาอยู่หลายครั้งตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา แต่ครั้งที่ประสบผลสำเร็จได้ชัยชนะเหนือเมืองพระนครคือ 2 ครั้งใหญ่ๆ ในพศว.19-20 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) และสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา)
ตอนที่ 1 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (1)
ตอนที่ 2 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (2)
ตอนที่ 3 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (3)
ตอนที่ 4 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (4)
ตอนที่ 5 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (5)
ตอนที่ 6 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (6)
ตอนที่ 7 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (7)